วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บันทึกการเรียนรู้สัปดาห์ที่8

ความเป็นพ่อแม่และลูกที่ดี
ชื่อผู้แต่ง
จรรยาลักษณ์ เจริญมรรค คณะศึกษาศาสตร์
สาขาการสอนภาษาอังกฤษ 52040191
การที่จะเป็นลูกหรือพ่อแม่ที่ดีได้นั้น ทุกคนก็ต่างต้องรู้จักหน้าที่ของตนและปฏิบัติตามหน้าที่ของตนให้ได้ดี จึงจะเป็นพ่อแม่หรือลูกที่ดีได้ การที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนดีเป็นลูกที่ดีนั้น ก็ต้องพิจารณาตนเองก่อนว่า ตนนั้นทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดีแล้วหรือยังก่อนที่จะไปคาดหวังว่าต้องการให้ลูกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ และในทางกลับกัน ลูกคนไหนที่ต้องการให้พ่อแม่ดีกับตน รักตน ตามใจตน ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าตนนั้นได้ทำหน้าที่ลูกที่ดีแล้วหรือยัง ทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่แล้วหรือยัง
การที่จะทำหน้าที่ของพ่อแม่ที่ดีเพื่อให้ลูกเคารพยกย่องนั้นมีมากมายหลายวิธีอาทิเช่น การสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี การห้ามมิให้ลูกทำความชั่ว สอนลูกว่าอะไรคือความดีอะไรคือความชั่ว การให้การศึกษาที่ดีแก่ลูกเพราะการให้การศึกษาแก่ลูกนั้นสำคัญที่สุดควรส่งให้ลูกเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการมีการศึกษาที่ดีนั้นก็หมายถึงการทำงานที่ดีในอนาคต การหาคู่ครองที่ดีให้ลูก หมายความว่าช่วยลูกดูคู่ครองว่าคนไหนดีคนไหนไม่ดี สุดท้ายคือการมอบมรดกให้ ในที่นี้หมายถึงมรดกที่เป็นคุณงามความดีที่พ่อแม่มี ชื่อเสียงที่พ่อแม่ได้ทำไว้ ทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่ได้สร้างมา แต่การที่ลูกจะได้สิ่งเหล่านี้ลูกก็ต้องทำหน้าที่ของลูกให้ดีเช่นกัน นั่นคือเลี้ยงดูพ่อแม่ยามพวกท่านแก่เฒ่า ช่วยท่านทำความสะอาดบ้าน รักษาชื่อเสียงของวงษ์ตระกูล ประพฤติตนให้เหมาะสมให้สมควรกับการที่พ่อแม่ได้มอบมรดกให้ ทำบุญให้ท่านเมื่อยามที่ท่านเสียชีวิตแล้ว เพียงเท่านี้ก็จะถือได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ของพ่อแม่และลูกที่ดีแล้ว
การที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นลูกที่ดี เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ และกตัญญูต่อพ่อแม่นั้น พ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีเสียก่อน ทำตัวให้น่าเคารพยกย่องเสียก่อน เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกๆเสียก่อน
แล้วจึงเรียกร้องสิ่งต่างจากลูก เรียกร้องให้ลูกกตัญญูกับตน ในทางตรงกันข้าม ลูกๆที่อยากให้พ่อแม่ทำดีกับตน รักตน ตามใจตน ก็ต้อง ทำตัวเป็นลูกที่ดีของพวกท่าน กตัญญูกับพวกท่านให้มาก เป็นเด็กดี
ไม่ดื้อกับท่าน ตั้งใจเรียนให้พ่อแม่ได้ภูมิใจ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนได้ดีแล้ว สิ่งที่หวังจะให้อีกฝ่ายเป็นนั้นก็จะตามมา นั่นคือต่างฝ่ายต่างก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด


-------------------------------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของศึกษารายวิชา ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

..........................................................................................................................................................................



ไฟริษยาในอก
ชื่อผู้แต่ง
จรรยาลักษณ์ เจริญมรรค คณะศึกษาศาสตร์
สาขาการสอนภาษาอังกฤษ 52040191
ความริษยาเกิดจากการขาดมุทิตา (ที่มีลักษณะคือความชื่นชม) หมายความว่า พลอยยินดีในความสุขหรือความสำเร็จของผู้อื่น มุทิตานี้ทำได้ยากกว่ากรุณา บางคนมีเมตตาปรารถนาดี มีความกรุณาสงสาร แต่เจริญมุทิตาไม่ได้ เพราะเราทุกคนมีอนุสัยกิเลสคือความริษยานอนเนืองอยู่ในกระแสจิต น้อยคนนักที่จะกำจัดความริษยานั้นได้ การจะกำจัดความริษยาได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝน ต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆจึงจะสามารถบรรเทาลงได้
การฝึกฝนจิตใจไม่ให้ริษยานั้นจะเบาบางลงได้จากการทำความเข้าใจด้วยเหตุผลว่า การริษยาผู้อื่นนั้นไม่เกิดคุณใดๆเลย ผู้ที่มีความริษยานั้นจะทำให้ขาดมิตร ขาดบริวารห้อมล้อม แต่ผู้ที่ตัดความริษยาได้นั้นจะได้รับอานิสงส์คือ มีบริวารห้อมล้อม มีมิตรสหายห้อมล้อม ความริษยาไม่ว่าจะเกิดกับใครก็จะทำให้คนผู้นั้นตกต่ำไปตลอด วิธีแก้ไฟริษยานั้นอาจใช้มุทิตา แก้ความริษยา มุทิตาคือความยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับความสุขความเจริญด้านทรัพย์สมบัติต่างๆ ตัดความยินร้ายไม่ยินดีลงได้
มุทิตานั้นเป็นพรมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรมคือระวังใจมิให้ริษยาในเมื่อได้เห็นได้ทราบสมบัติ คือความพรั่งพร้อมต่างๆ ของผู้อื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้นก็พยายามระวัง หัดคิดว่า ตนเองมีความยินดีเมื่อตนได้สมบัติที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเหตุใดเมื่อคนอื่นเขาได้จึงไปริษยาเขา ควรจะพลอยยินดีกับเขา
ความริษยาจะมีแต่ทำให้คนเราเป็นทุกข์ทำให้คนเราหาความสุขไม่เจอ ทำให้รู้สึกอึดอัดตลอดเวลา ทำให้ใจของเราวุ่นวายสับสนคิดแต่เรื่องไม่ดี จิตใจสับสนมืดมัว คิดเพียงแต่ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดี คิดแต่ไม่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข แต่แท้จริงแล้วผู้ที่ไม่มีความสุขก็คือตัวเราเอง อยากให้ผู้อื่นทุกข์เราก็ทุกข์กว่า ฉะนั้นเราไม่ควรจะริษยาผู้อื่นควรทำจิตใจให้สงบ ใช้หลักมุทิตามาช่วยเมื่อรู้สึกริษยา เพราะเมื่อขาดความริษยาแล้วนั้นจิตใจเราก็จะดี มีความสุข จะทำให้มีเพื่อนฝูงมากมายมีบริวารห้อมล้อม



-------------------------------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของศึกษารายวิชา ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
เอกสารอ้างอิง
เอกสารอ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น